SUPREME 24

   
ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ
  บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต โดย คุณรุ่งนภา สดงาม
สนใจร่วมกับทีมงานตัวแทนประกันชีวิต มืออาชีพ บริหารงานโดย คุณรุ่งนภา โทร. 086-3341466

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535

E-mail Print PDF
Article Index
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
1
2
3
4
All Pages

พระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ. ๒๕๓๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจประกันชีวิตของธนาคารออมสินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน

มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้

“บริษัท” หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

“สำนักงานใหญ่” หมายความรวมถึงสำนักงานสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

“การประกอบธุรกิจประกันชีวิต” หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจประกันต่อด้วย

“เงินกองทุน” (ยกเลิก)

“ตัวแทนประกันชีวิต” หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท

“นายหน้าประกันชีวิต” หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

“คณะกรรมการ”] หมายความว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนประกันชีวิต

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“นายทะเบียน”] หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมอบหมาย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กับออกประกาศตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

บริษัท

 

มาตรา ๗ การประกอบธุรกิจประกันชีวิตจะกระทำได้เมื่อได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อรัฐมนตรี และเมื่อรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตแล้ว ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด และดำเนินการวางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว

เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขออนุญาตได้ดำเนินการตามที่กำหนดในวรรคสองแล้วให้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้น

ในกรณีที่บริษัทมหาชนจำกัดไม่สามารถวางหลักทรัพย์หรือดำรงเงินกองทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าการอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตสิ้นผล

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๘ บริษัทประกันชีวิตต่างประเทศจะตั้งสาขาของบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ในการนี้รัฐมนตรีจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขก็ได้

การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยตั้งเป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

สาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ต้องดำรงทรัพย์สินไว้ในประเทศไทยตามจำนวน ชนิด วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำนวนทรัพย์สินที่รัฐมนตรีกำหนดต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินกองทุนที่บริษัทต้องดำรงตามมาตรา ๒๗

รัฐมนตรีจะออกใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่งก็ต่อเมื่อบริษัทได้วางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และดำรงไว้ซึ่งทรัพย์สินในประเทศไทยตามวรรคสามแล้ว

บริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศจะเปิดสาขา ณ ที่ใด ๆ มิได้

สาขาให้หมายความรวมถึงสำนักงานที่แยกออกจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด และได้รับเงินค่าใช้จ่ายจากบริษัทไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนให้ใช้เป็นที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการข้อมูล สถานที่เก็บเอกสาร และสถานที่ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับกิจการของบริษัท

มาตรา ๙ หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือและมีมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ไม่เกินหุ้นละหนึ่งร้อยบาท

การออกหุ้นบุริมสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด  ทั้งนี้ นายทะเบียนจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยโดยไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดก็ได้

มาตรา ๑๐ บริษัทต้องมีกรรมการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๑) และ (๒) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

(๑) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งไม่จดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมีสัญชาติไทย

(๒) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) มีบุคคลตาม (๑) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือ

(ข) มีบุคคลตาม (๑) หรือนิติบุคคลตาม (๒) (ก) หรือบุคคลตาม (๑) และนิติบุคคลตาม (๒) (ก) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

ในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการอาจอนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้มีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่าหนึ่งในสี่แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดได้  ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตให้นำหลักเกณฑ์การถือหุ้นของบุคคลตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่บริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดตามวรรคสองได้ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๑๑ บุคคลใดได้หุ้นของบริษัทใดมา และการได้มานั้นเป็นเหตุให้จำนวนหุ้นหรือบุคคลผู้ถือหุ้นอยู่เป็นไปโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินจำนวนที่ถือไว้ขึ้นใช้ยันต่อบริษัทนั้นมิได้ และบริษัทจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใดให้แก่บุคคลนั้น หรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นส่วนที่เกินมิได้

มาตรา ๑๒ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ให้บริษัทตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าสามเดือนก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นทุกคราว และแจ้งผลการตรวจสอบต่อนายทะเบียนตามรายการและภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในกรณีที่พบว่ามีจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถือหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ให้บริษัทแจ้งให้ผู้นั้นทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตรวจพบและให้ผู้นั้นดำเนินการแก้ไขภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้ง

มาตรา ๑๓ บทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ มิให้นำมาใช้บังคับแก่บริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามมาตรา ๘

มาตรา ๑๔ การโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการควบกันของบริษัทให้กระทำได้เฉพาะกับบริษัทด้วยกันเท่านั้น

ในกรณีที่บริษัทประสงค์จะโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือควบกันตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการบริษัทดังกล่าวร่วมกันจัดทำโครงการแสดงรายละเอียดการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการ  ทั้งนี้ ในการให้ความเห็นชอบคณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรือเพื่อความมั่นคงของการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยก็ได้

มาตรา ๑๔/๑ การโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการโอนกิจการได้  ทั้งนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องในการโอนกิจการไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา ๓๐๘ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในกรณีเป็นการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทให้ถือว่าการโอนมีผลสมบูรณ์ เมื่อบริษัทที่โอนและบริษัทที่รับโอนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้วและให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่ออกให้แก่บริษัทที่โอนกิจการนั้น

มาตรา ๑๔/๒ การควบบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

การควบบริษัทตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลสมบูรณ์เมื่อบริษัทที่จะควบกันได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว และให้ถือว่าบริษัทที่ควบกันได้รับอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง

เมื่อได้มีการจดทะเบียนการควบบริษัท และดำเนินการวางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ แล้ว ให้รัฐมนตรีออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทที่ควบกันและให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่ออกให้แก่บริษัทเดิม

มาตรา ๑๔/๓ ในการโอนกิจการของบริษัทให้แก่บริษัทอื่นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการควบบริษัท หากมีการโอนสินทรัพย์ที่มีหลักประกันเป็นอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกัน ซึ่งย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ให้หลักประกันเป็นอย่างอื่นนั้นตกแก่บริษัทที่รับโอนกิจการหรือบริษัทที่ควบกันแล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๕ นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตบริษัทต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการประกอบธุรกิจประกันชีวิตทุกปี เว้นแต่ปีที่ออกใบอนุญาต

บริษัทใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งห้ามบริษัทนั้นดำเนินการขยายธุรกิจ  ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจะชำระค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องและครบถ้วน และนายทะเบียนได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทดำเนินการขยายธุรกิจ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๖ (ยกเลิก)

มาตรา ๑๗ บริษัทตามมาตรา ๗ ที่จะเปิดสาขา ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาหรือเลิกสาขา ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๘ วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใดๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทซึ่งตนไม่มีสิทธิใช้ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “ประกันชีวิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) บริษัท

(๒) สมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นบริษัทหรือสมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

(๓) สมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต

(๔) สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

(๕) ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตที่ใช้เพื่อเป็นคำแสดงชื่อในธุรกิจการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตของตน แล้วแต่กรณี

(๖) สถาบันการศึกษาวิชาประกันชีวิตหรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตซึ่งใช้เพื่อเป็นคำแสดงชื่อของสถาบันนั้น

(๗) กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง สมาชิก หรือผู้มีฐานะ มีตำแหน่ง หรือหน้าที่ใด ๆ ในบริษัท สมาคม สหภาพแรงงาน สถาบันการศึกษาวิชาประกันชีวิต หรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๖) ซึ่งใช้เพื่อแสดงความเป็นกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง สมาชิก หรือความมีฐานะ มีตำแหน่ง หรือหน้าที่ของตนในบริษัท สมาคม สหภาพแรงงาน หรือสถาบันดังกล่าว

การใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจของตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตตาม (๕) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

มาตรา ๒๐ บริษัทต้องมีหลักทรัพย์ของบริษัทวางไว้กับนายทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ประกันมีมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

หลักทรัพย์ของบริษัทที่ต้องวางไว้กับนายทะเบียนจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดก็ได้

บริษัทอาจขอเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ประกันที่วางไว้ได้  ทั้งนี้ ภายใต้บังคับวรรคหนึ่งและวรรคสอง

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันของบริษัทใดมีมูลค่าลดต่ำลงกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๐ ให้นายทะเบียนสั่งให้บริษัทนั้นนำหลักทรัพย์ประกันมาเพิ่มจนครบจำนวนที่กำหนดภายในสองเดือนนับแต่วันได้รับคำสั่ง

มาตรา ๒๒ ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันของบริษัทใดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๐ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนหลักทรัพย์ประกันส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นได้ ตามคำขอของบริษัทซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

มาตรา ๒๓ ให้บริษัทจัดสรรเบี้ยประกันภัยไว้เป็นเงินสำรองประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ และเงินสำรองอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เงินสำรองตามวรรคหนึ่งจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๔ คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้บริษัทวางเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ไว้กับนายทะเบียนเป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินสำรองตามมาตรา ๒๓

การวางเงินสำรองตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๕ ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ เป็นทรัพย์สินที่การโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือต้องกระทำต่อบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องนั้นทราบ และห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องนั้นโอนหรือให้ไปซึ่งทรัพย์สินนั้น จนกว่านายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งการถอนหรือการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินนั้น

มาตรา ๒๖ หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้ตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี  ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่บริษัทยังมิได้เลิกกัน

ในกรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษอื่น

ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวอย่างเดียวกันกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

ทรัพย์สินของบริษัทนอกจากหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หมวด ๑/๑

การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่อง

 

มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุนรวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัท

บริษัทต้องดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิตเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือความเสี่ยงตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การกำหนดอัตราการดำรงเงินกองทุนตามวรรคสอง คณะกรรมการจะกำหนดตามขนาดหรือประเภทของสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือความเสี่ยงรวมทุกประเภทหรือแต่ละประเภทก็ได้

ในกรณีที่บริษัทมีการซื้อหุ้นคืนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มิให้นับหุ้นที่ซื้อคืนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุน โดยให้หักเงินกองทุนออกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ห้ามบริษัทนำเงินกองทุนไปใช้ก่อภาระผูกพัน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๑ บริษัทต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การกำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจะกำหนดแต่เพียงบางประเภทหรือทุกประเภท หรือจะกำหนดอัตราส่วนของแต่ละประเภทในอัตราใดก็ได้

อัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรานี้ถ้าเป็นการเพิ่มอัตราดังกล่าวต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าหกสิบวัน

มาตรา ๒๗/๒ สินทรัพย์สภาพคล่องได้แก่

(๑) เงินสด หรือเงินฝากธนาคารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(๒) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือหลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย

(๓) หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย

(๔) สินทรัพย์อื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

สินทรัพย์สภาพคล่องตาม (๒) (๓) และ (๔) ต้องปราศจากภาระผูกพันและสามารถโอนเปลี่ยนมือได้

มาตรา ๒๗/๓ บริษัทต้องบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ให้มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการรับชำระเบี้ยประกันภัย การกู้ยืมเงิน หรือการรับเงินจากผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๔ ให้บริษัทจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันชีวิต  ทั้งนี้ ตามประเภท ชนิด และสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ให้บริษัทนำเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ยกเว้นส่วนที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ และสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งฝากกับสถาบันการเงินหรือดำเนินการอย่างอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ห้ามบริษัทนำสินทรัพย์ตามวรรคสองไปใช้ก่อภาระผูกพัน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๕ ให้บริษัทจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนเสนอต่อนายทะเบียนทุกเดือนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

ในกรณีที่เงินกองทุนของบริษัทใดลดลงต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา ๒๗ วรรคสอง ให้บริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนหรือวันที่ผู้สอบบัญชีหรือบริษัทตรวจพบ

โครงการตามวรรคสองอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) ขั้นตอนที่จะเพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอ

(๒) ระดับเงินกองทุนที่คาดว่าจะดำรงในแต่ละไตรมาสภายในระยะเวลาของโครงการ

(๓) ประเภทและธุรกิจที่จะประกอบการ

(๔) ระยะเวลาของโครงการซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปี

ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาและแจ้งให้บริษัททราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับโครงการ  ทั้งนี้ การให้ความเห็นชอบจะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้

ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ให้ความเห็นชอบโครงการ หรือบริษัทไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ให้บริษัทมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๗/๖ ในระหว่างดำเนินการตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๒๗/๕ บริษัทสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่จะดำเนินการขยายธุรกิจไม่ได้จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามมาตรา ๒๗ วรรคสอง

การขยายธุรกิจของบริษัทตามวรรคหนึ่งให้หมายถึง

(๑) การรับประกันภัยรายใหม่ หรือการขยายวงเงินการรับประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่

(๒) การเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

(๓) การก่อภาระผูกพันเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามภาระผูกพันที่มีอยู่

(๔) การทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตเพิ่มเติม

(๕) การรับโอนกิจการของบริษัท

กรณีใดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงตาม (๒) หรือเป็นการก่อภาระผูกพันเพิ่มเติมตาม (๓) ให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๗ ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๕๓ เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) บริษัทไม่เสนอโครงการตามมาตรา ๒๗/๕ ต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา

(๒) บริษัทไม่ดำเนินการตามโครงการ หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๒๗/๕  ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

(๓) โครงการที่เสนอตามมาตรา ๒๗/๕ ไม่ได้รับความเห็นชอบและบริษัทไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์



 
QR CODE Facebook
Twitter
Since 19.10.09
You are here: Home ติวสอบตัวแทน พระราชบัญญัติประกันชีวิต